Home ข่าววันนี้ สิ้น “หลวงปู่อำคา” เกจิดังเพชรบูรณ์ สิริอายุ 97 ปี 78 พรรษา เปิดเลขรถเคลื่อนร่าง

สิ้น “หลวงปู่อำคา” เกจิดังเพชรบูรณ์ สิริอายุ 97 ปี 78 พรรษา เปิดเลขรถเคลื่อนร่าง

64

ศิษยานุศิษย์แห่อาลัย “หลวงปู่อำคา ถาวโร” เกจิอาจารย์ดังเมืองเพชรบูรณ์ พระผู้มีแต่ความเมตตา ละสังขารแล้ว สิริอายุ 97 ปี 78 พรรษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูอดุลพัชราภรณ์ หรือ หลวงปู่อำคา ถาวโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ละสังขารด้วยอาการอันสงบ ที่โรงพยาบาลวิเชียรบุรี หลังเข้ารับการรักษาอาการอาพาธด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา เมื่อเวลา 16.08 น.

สร้างความเศร้าโศกอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างมาก โดยได้อัญเชิญสรีระสังขารของท่านมาไว้ที่วัดประชานิมิต และจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพในวันที่ 11 ก.พ. เวลา 17.00 น. โดยพระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนได้มีการประกอบพิธีขอขมากรรม และสรงน้ำสรีระสังขารตั้งแต่เวลา 13.00-16.20 น. ณ ศาลาการเปรียญวัดประชานิมิต

ทั้งนี้ สิ่งที่หลายคนเฝ้าจับตาคือทะเบียนรถเคลื่อนสรีระร่างของหลวงปู่อำคา นั้นคือ กบ 2586 ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นเลขมงคล ลุ้นโชคในงวด 16 กุมภาพันธ์ 2568 ที่จะถึงนี้

เปิดประวัติ หลวงปู่อำคา ถาวโร

สำหรับชีวประวัติ พระครูอดุลพัชราภรณ์ พระครูอดุลพัชราภรณ์ หรือ หลวงปู่อำคา ถาวโร เดิมชื่อ อำคา หอมมาลา โยมบิดาชื่อ นายบาง โยมมารดาชื่อ นางไฝ เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2470 ตรงกับวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ บ้านเลขที่ 97 หมู่ 8 ต.หนองพลวง อ.ประทาย จ.นครราชสีมา

อุปสมบทเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ณ วัดหันห้วยทราย ต.หันห้วยทราย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา โดยมี พระครูวิโรจนคุณ วัดหันห้วยทราย ตำบลหันห้วยทราย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า ถาวโร

หลังอุปสมบทมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ ที่สำนักศาสนศึกษาวัดสวัสดี สำนักเรียนคณะจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2494 หลังจากนั้นได้เดินทางกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง

และเมื่อวัดหนองค่าย ต.หนองค่าย อ.ประทาย ไม่มีพระอยู่จำพรรษา ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ให้ท่านมาจำพรรษา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสพร้อมกับได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล เขต 2 อำเภอประทาย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 หลวงปู่อำคาได้ออกเดินธุดงค์ผ่านดงพญาเย็น มายังอ.วิเชียรบุรี และอยู่จำพรรษาที่วัดหนองสองห้อง ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดประชานิมิต จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

สำหรับการศึกษา

พ.ศ. 2494 สอบได้ นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ สำนักศาสนศึกษาวัดสวัสดี สำนักเรียนคณะจังหวัดขอนแก่น ตำแหน่งฝ่ายปกครอง พ.ศ. 2507 เป็น เจ้าคณะตำบลท่าโรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2518 เป็น เจ้าอาวาสวัดประชานิมิต โดยชาวบ้านเรียกท่านว่า “หลวงพ่อใหญ่” พ.ศ. 2518 เป็น เจ้าคณะอำเภอวิเชียรบุรี พ.ศ. 2550 เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอวิเชียรบุรี พ.ศ. 2564 เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์

หลวงพ่อท่านเป็นพระที่ชาววิเชียรบุรี เคารพศรัทธามาก วัตถุมงคลที่ผ่านการอธิษฐานจิตจากท่าน ล้วนแต่เกิดประสบการณ์อภินิหาร แคล้วคลาดจากภยันตรายมานับไม่ถ้วน ในเรื่องของเมตตามหานิยม วัตถุมงคลของท่านก็เด่นทางด้านทำมาค้าขาย เรียกได้ว่า พุทธคุณครอบจักรวาล ใครมีก็ต่างหวงแหน

ซึ่งพุทธคุณของวัตถุมงคลที่หลวงพ่อท่านปลุกเสก เป็นที่ประจักษ์มานักต่อนัก ในปี 2519 หลวงพ่อผางท่านได้มาอธิษฐานจิตปลุกเสกเหรียญรุ่นแรก ในงานฝังลูกนิมิต ที่วัดประชานิมิต ซึ่งหลวงพ่อผางท่านเป็นพระสายปฏิบัติ สายธรรมยุทธ ซึ่งเคร่งครัดในกิจของสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง

ทำให้วัตถุมงคลของท่านเป็นที่หวงแหนของชาววิเชียรบุรีเป็นอย่างมาก ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ชาววิเชียรบุรี ขึ้นไปกราบ หลวงพ่อคูณ ณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา หลวงพ่อคูณถามว่า “มึงมาจากไหน” เขาก็ตอบหลวงพ่อคูณว่า มาจากวิเชียรบุรี หลวงพ่อคูณได้ยินดังนั้นก็กล่าวขึ้นมาว่า “มึงไปกราบหลวงพ่อใหญ่” ซึ่งก็คือพระครูอดุลพัชราภรณ์ หรือ หลวงปู่อำคา เถอะ ไม่ต้องมากราบกูของดีอยู่ที่บ้านมึงนั่นแหละ

หลวงปู่อำคา เป็นผู้ที่มีเมตตามากศิษยานุศิษย์ที่ไม่ว่าจะเดินทางมาใกล้ไกลขนาดไหนท่านก็ให้เข้าพบและให้พรทุกๆคนไม่ว่าเวลาไหน กระทั่งต่อมาท่านมีร่างกายอ่อนเพลียประกอบกับอายุมากจึงได้อาพาธ

ศิษยานุศิษย์ได้นำเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลวิเชียรบุรีตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2568 แต่เนื่องจากหลวงปู่ท่านชราภาพมากแล้วจึงได้ละสังขารด้วยอาการอันสงบเมื่อวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 16.08 น. สร้างความเศร้าโศกอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์และชาวเพชรบูรณ์เป็นอย่างมาก