พายุวิภา มาแน่! ไทยกระทบหลายจังหวัด เปิดวิธีรับมือที่คนเวียดนามทำบนหลังคาบ้าน ผู้เชี่ยวชาญเฉลยได้ผลจริงไหม?
ประชาชนเวียดนามต่างเตรียมรับมือกับ “พายุวิภา” ที่กำลังจะเคลื่อนตัวเข้าฝั่งเวียดนาม ด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะการหาวิธีป้องกันหลังคาบ้านไม่ให้ถูกพายุหอบไป ด้วยการวางกระสอบทรายบนหลังคา
ขณะที่หลายครอบครัวเลือกใช้ถุงน้ำขนาดใหญ่แทน ซึ่งภาพของถุงน้ำบนหลังคากลายเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย แม้แต่แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้รับการยึดด้วยน็อตอย่างแน่นหนา แต่เจ้าของบ้านก็ยังคงนำถุงทรายและถังน้ำมาวางเพิ่มเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นวิธีการที่หลายครอบครัวใช้มาตั้งแต่ตอน “พายุยางิ” เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา
ครอบครัวหนึ่งที่ใช้วิธีนี้ กล่าวว่า “กระสอบทรายมีน้ำหนักมาก ดังนั้นครอบครัวของเราจึงนำถุงพลาสติกขึ้นไปบนหลังคาและเติมน้ำลงไป ทำให้ประหยัดแรงงานและรวดเร็ว” ขณะที่บางครอบครัวนำสิ่งของทุกชนิดที่สามารถบรรจุน้ำได้ เช่น หม้อ กะละมัง ไปจนถึงกล่องโฟม ขึ้นไปบนหลังคา
ทางด้าน นายจ่อง ชาวจังหวัดแทงฮว้า ประเทศเวียดนาม ได้ลากสายยางขึ้นหลังคาบ้าน เติมน้ำใส่ถุงพลาสติกหนา มัดปากถุงให้แน่น แล้ววางเรียงตามแนวโครงคานเหล็กของหลังคา เพื่อป้องกันลมแรงพัดหลังคาปลิว
แต่เพื่อนบ้านกลับไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ โดยกล่าวว่า “ถุงน้ำมันแตกง่าย ไม่มีประโยชน์ ต้องใช้กระสอบทรายถึงจะมั่นคง!”
ขณะที่นายจ่องวัย 56 ปี ชี้แจงว่า “ผมไม่มีแรงยกกระสอบทราย บ้านเหลือแค่ผมกับภรรยาชราก็เลยใช้ถุงน้ำ เพราะทำง่ายกว่า”
ผู้เชี่ยวชาญเฉลย ใช้อะไรดี?
เรื่องราวของนายจ่องกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียเวียดนามในช่วงวันที่ผ่านมา
นายดิ่ง บา วินห์ (Đinh Bá Vinh) รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคขององค์กร “บ้านต้านน้ำท่วม” กล่าวว่า ทั้งถุงน้ำและกระสอบทรายสามารถใช้ได้ หากยึดตามหลักการ 3 ข้อคือ
วัถุถ่วงต้องหนักอย่างน้อย 20–30 กิโลกรัม ต้องวางให้ตรงแนวโครงหลังคาเพื่อกระจายน้ำหนัก ต้องยึดให้อยู่กับที่อย่างมั่นคง
“หลายคนคิดว่าแค่เอาของหนักวางบนหลังคาก็พอแล้ว แต่ถ้าน้ำหนักไม่ถึง ของถ่วงก็ไร้ประโยชน์ หรือถ้าหนักแต่วางผิดตำแหน่ง อาจทำให้แผ่นหลังคาเหล็กบุบหรือแตกหักได้” นายวินห์เตือน
ถุงน้ำ : ทำง่าย เก็บง่าย
ถุงน้ำเป็นทางเลือกยอดนิยม เพราะสะดวกและเหมาะสำหรับบ้านที่มีแต่ผู้สูงอายุ ผู้หญิง หรือไม่มีแรงงานชายในบ้าน แค่ใช้ถุงพลาสติกหนาหรือแกลลอน นำขึ้นหลังคา เติมน้ำให้ได้ตามน้ำหนักที่ต้องการ มัดให้แน่น แล้วผูกยึดไว้กับโครงหลังคา
หลังพายุผ่าน ก็แค่ระบายน้ำออก ทำให้เก็บง่าย ไม่ต้องแบกของหนักลงมา
แต่ข้อเสียของถุงน้ำคือ หากถูกของแหลมคมเจาะ ถุงจะรั่ว น้ำอาจทำให้หลังคาลื่น และถุงก็หมดประสิทธิภาพทันที ถ้ามีลมแรง ถุงที่ไม่มีน้ำก็อาจปลิวและกลายเป็นอันตรายเพิ่มขึ้นอีกด้วยผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ใช้ถุงหนา หลีกเลี่ยงการวางใกล้วัตถุมีคม และมัดปากถุงแน่น พร้อมยึดถุงกับคานหลังคาด้วยเชือก
กระสอบทราย : มั่นคงแต่หนักและจัดการยาก
กระสอบทรายเป็นวิธีดั้งเดิมที่ได้รับความนิยม เพราะมีน้ำหนักแน่นอนและต้านแรงลมได้ดี แม้จะโดนเจาะ ทรายก็ยังไม่ไหลออกหมด ทำให้ยังช่วยถ่วงหลังคาได้อยู่
แต่ข้อเสียคือ ต้องตักทราย ใส่กระสอบ แล้วยกขึ้นหลังคา ซึ่งใช้แรงมาก และหลังพายุผ่าน หากปล่อยไว้นาน กระสอบอาจดูดซับน้ำฝน ทำให้หลังคาเหล็กหรือฝ้าเพดานไม้ผุพัง หรือเกิดการรั่วซึม
บางคนอาจคิดว่ากระสอบที่เปียกน้ำจะหนักขึ้นและยึดหลังคาได้ดีกว่า แต่สถาปนิกวินห์ให้ความเห็นว่า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนั้นเล็กน้อย และกระสอบเปียกยังฉีกขาดง่ายและเก็บลำบากหลังฝนตก
“ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่จำเป็นต้องเถียงกันว่าน้ำหรือทรายดีกว่า อะไรที่มีอยู่ในบ้าน ทำได้ง่าย และเหมาะกับสภาพร่างกายของคนในบ้าน ก็ควรเลือกใช้สิ่งนั้น” นายวินห์กล่าว
ทั้งนี้ ถุงน้ำหรือกระสอบทรายเป็นเพียงวิธีแก้ปัญหาชั่วคราว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างหลังคาตั้งแต่ต้นฤดูพายุ เพื่อป้องกันความเสียหายระยะยาว
“ถ้าลมแรงระดับ 10–12 ไม่มีถุงไหนถ่วงได้อยู่ ถ้าโครงสร้างหลังคาอ่อนแอ การป้องกันพายุต้องเริ่มจากโครงสร้าง ไม่ใช่หวังแค่ของถ่วง” ผู้เชี่ยวชาญสรุป
พายุวิภา กระทบไทย
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 21 ก.ค.2568 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “วิภา” และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 8 (194/2568) ความว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันนี้ (21 ก.ค. 68) พายุโซนร้อน “วิภา” เคลื่อนลงสู่อ่าวตังเกี๋ยแล้ว
และเมื่อเวลา 16.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 250 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองท้ายบิ่ญ ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 21.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้เล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองท้ายบิ่ญ ประเทศเวียดนามในวันที่ 22 ก.ค. 68 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ หลังจากนั้นพายุนี้มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบนและภาคเหนือตอนบนต่อไป ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
จากอิทธิพลของพายุ “วิภา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 21-24 ก.ค. 68 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรง
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้
วันที่ 21 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และนครราชสีมา
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
วันที่ 23-24 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลกพิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ :จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย