จันทร์ซ้อนจันทร์ 15 พ.ย. 67 ต้องบอกก่อนว่าบทความนี้เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณด้วยนะคะ ใครที่เป็นสายมูตัวแม่ บทความนี้มีความหมายกับคุณค่ะ คุณเชื่อเรื่อง “อาบแสงจันทร์” เพื่อเสริมเสน่ห์ไหมค่ะ ตามตำราโบราณในคืน “วันลอยกระทง” มีความหมายสำคัญมากในสมัยก่อน เพราะถือว่าเป็นคืนที่ดวงจันทร์มีพลังเข้มขลังมากที่สุด เกจิต่างๆ นิยมใช้ฤกษ์ดีนี้ เรียกว่า “จันทร์ซ้อนจันทร์” ในการทำพิธีมงคลต่างๆ
วันลอยกระทง 2567 ตามประเพณีไทยสมัยก่อน วันลอยกระทงนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ประเพณีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและในปัจจุบัน จะมีรายละเอียด
1. บูชาพระแม่คงคา ลอยกระทงเพื่อบูชาพระแม่คงคา ประเพณีนี้สันนิษฐานว่าได้มาจากอินเดีย ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ลัทธิพราหมณ์เชื่อว่า ลอยกระทงเพื่อบูชาแม่คงคาอันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ประการหนึ่ง และเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่กลางเกษียรสมุทร อีกประการหนึ่ง
ทางศาสนาพุทธ เชื่อว่าลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ทรงประทับไว้ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที (ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา) อยู่ในประเทศอินเดีย บ้างก็เชื่อว่าเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระจุฬามณีพระเจดีย์บนสวรรค์ บางท่านเชื่อว่า เพื่อขอบคุณพระแม่คงคาที่เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้และขอขมาต่อท่านที่่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำ
2. ลอยพระประทีป การลอยกระทงในสมัยสุโขทัยใช้อุปกรณ์สำคัญ คือ โคมไฟ มีโคมชัก (โคมไฟที่ใช้สำหรับชักไว้บนเสาระหงบนที่สูง) โคมแขวน (โคมไฟที่ใช้แขวนห้อย) โคมลอย (โคมไฟที่ใช้สำหรับลอยในน้ำ) มักทำเป็นกระทงรูปต่าง ๆ ซึ่งมีดวงไฟหรือประทีปจุดด้วยน้ำมันเปรียงแล้วยังมีเครื่องบูชาอย่างอื่นอีก ได้แก่ ธูป เทียนและดอกไม้
3. ลอยกระทง ปัจจุบันประเพณีลอยกระทง ไม่มีพิธีการทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะเป็นเทศกาลเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงของประชาชนเนื่องในวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งมีน้ำเจิ่งนอง และเป็นคืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง มีบรรยากาศที่ชวนรื่นรมย์ ชาวไทยทั่วประเทศรวมทั้งชาวไทยภาคใต้นิยมทำกระทงเป็นรูปต่าง ๆ ประดับประดาสวยงาม พรั่งพร้อมไปด้วยเครื่องสักการบูชาต่าง ๆ มีธูปเทียน ดอกไม้ เป็นต้น บางคนอาจจะนำข้าวสาร พริก หอม กระเทียม กะปิ เกลือ เงินเหรียญและตัดเล็บ ตัดผม ใส่ลงไปในกระทงถือเป็นการลอยเคราะห์ไปด้วย
จันทร์ซ้อนจันทร์ คืนวันที่ 15 พฤศจิกายน นี้ สายมูห้ามพลาด คือ
วิธีอาบแสงจันทร์ อาบน้ำเพ็ญจันทร์ มีดังนี้
-เตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะที่เหมาะสม เช่น ขัน กะละมัง หรือถังน้ำ วางไว้กลางแจ้ง เพื่อให้แสงจันทร์ส่องกระทบน้ำได้
-เตรียมเทียนไว้หยดลงในน้ำขณะท่องคาถา -ตั้งจิตให้สงบ -เมื่อเงาของพระจันทร์ปรากฏในน้ำแล้ว ให้เริ่มท่องคาถาอาบน้ำเพ็ญจันทร์
-ตั้งนะโม 3 จบ “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ”
-และท่อง “ปุญณะจันโท วิชานันเต วิสุทธิ สาวะโก วะโร พุทโธ สัทธัมมะรังสี มุนิโน มัตถะเกสุภัง” (15 จบ)
-ตั้งจิตอธิษฐานขอพรตามที่ต้องการ เช่น ขอพรให้เจริญรุ่งเรือง โชคดี มีเสน่ห์ สมหวังในความรัก
-ตักน้ำจากภาชนะที่เตรียมไว้ รดศีรษะ ล้างหน้า ชำระร่างกาย หรือประพรมร่างกาย